icon วางระบบเครือข่าย ติดต่อ info@corecasys.com  บทความที่  00367 [DrayTek Tips]
บทความนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ ส.ค. 53 (DSLAM)

การกระจายสัญญาณ ADSL ด้วย IPDSLAM

 

ผู้เขียนได้เคยเดินทางไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น  ได้เห็นระบบอินเตอร์เน็ตที่แปลกตาไป  ก็คือในแต่ละห้องพักนั้น  จะมี Modem ADSL Router อยู่ภายในห้องพัก  ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อ Notebook เข้ากับสาย LAN ที่มีอยู่ได้เลย  เปรียบเสมือนการกระจายสัญญาณ ADSL ไปยังแต่ละห้องพักโดยตรง  เหมือน True หรือ TOT ซึ่งกระจายสัญญาณ ADSL มาที่บ้านของแต่ละคน ..... ในความเป็นจริงแล้ว  ระบบนี้ทางโรงงาน DrayTek ได้เคยส่งข้อมูล Case Study เกี่ยวกับการติดตั้ง DSLAM ที่โรงแรม Holidays Inn (Taiwan)  มาให้ผู้เขียนนานแล้ว  แต่ผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสจัดทำเป็นบทความอย่างเป็นทางการซักที  เพราะเทคนิคนี้ 90% จะเกี่ยวกับ Hardware และการ Wiring สายสัญญาณเป็นหลัก  ในช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวายแบบนี้  ก็เลยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  โดยจำลองระบบขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ  และถือโอกาสแบ่งปันความรู้นี้กับผู้อ่านด้วยเลย  เผื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับระบบสายโทรศัพท์ที่มีอยู่ภายในสำนักงาน  อพาร์ทเม้นท์  หรือ ตามรีสอร์ทชายทะเล …. อย่าลืมนะครับว่า  ไม่มีองค์กรใด  ที่ไม่มีสายโทรศัพท์  ดังนั้นหากติดตั้ง DSLAM ภายในระบบเครือข่ายแล้ว  จะช่วยเอื้อประโยชน์เป็นอย่างมาก  เพราะสามารถใช้โครงข่ายสายโทรศัพท์ทองแดงเดิมที่มีอยู่  และเสถียรภาพของ DSLAM นั้น  อยู่ในเกณฑ์ดีเท่ากับการใช้ Switch ภายในระบบเลยทีเดียว

 

เป้าหมายในการใช้งาน

เพื่อกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปยังเครือข่ายสายโทรศัพท์ที่มีอยู่ภายในสำนักงาน อพาร์ทเม้นท์  หรือรีสอร์ทชายทะเล  โดยคุณสมบัติของ ADSL 2/2+  นั้น  หากสายโทรศัพท์อยู่ในระยะทาง 1.5 กม. จะได้ความเร็วในการ Download เฉลี่ยถึง 24 Mbps.  แต่ในส่วน Upload นั้นความเร็วเฉลี่ยประมาณ 1 Mbps  ทั้งนี้ระยะทางไกลที่สุดที่ DSLAM รองรับได้นั้น  ตามทฤษฎีแล้วคือ 7 กม.  แต่อุปกรณ์ด้านเน็ตเวอร์ค  อะไรที่วิ่งได้ร้อยอย่าให้วิ่งเต็มร้อยเลยนะครับ  เอาแค่ 70-80% ก็พอแล้ว  ระยะทางที่หวังผลได้นั้น  ผู้เขียนแนะนำให้เป็นที่ 3-5 กม. ก็พอแล้ว  อุปกรณ์ DSLAM 1 ตัว  สามารถใช้ได้กับสายโทรศัพท์ 24 เส้น  จะติดตั้งกี่ตัวก็ได้ภายในรีสอร์ท  หรือโรงแรม  เหมาะอย่างยิ่งกับรีสอร์ทตามชายทะเลที่มีการเดินสายโทรศัพท์ไว้แล้ว  และต้องการกระจายสัญญาณอินเตอร์ไปยังแต่ละห้องพักแบบแยกแต่ละห้องออกจากกัน

 

ปูพื้นความเข้าใจกันก่อนนะครับ  การติดตั้ง IP DSLAM นั้นไม่ยากอย่างที่คิด  DSLAM  นั้นทำงานในลักษณะของ Transparent Mode คือเปรียบเสมือนแผ่นใส  ที่แทรก  หรือคั่นกลางเข้ากับระบบสายโทรศัพท์ที่มีอยู่  แล้วก็เอาขา UP Link ซึ่งเป็น RJ45 ของ DSLAM นั้น  เชื่อมต่อเข้ากับ Router เพียงแค่นี้  คุณก็สามารถกระจายสัญญาณ ADSL พร้อมกับอินเตอร์เน็ตที่คุณมีอยู่ไปยังปลายทางในสำนักงานได้แล้ว

 

Diagram การติดตั้ง

 

ภาพที่ 1

 

จากภาพที่ 1  จะเห็นได้ว่า  การติดตั้ง DSLAM นั้น  จะไม่ยุ่งกับโทรศัพท์ที่มาจากภายนอกเลย  แต่จะติดตั้งเฉพาะกับสายสัญญาณโทรศัพท์ภายในของเราเอง  ซึ่งที่ตัว DSLAM เองก็จะมี Port Uplink เพื่อรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต  เป็น Port แบบ RJ45  โดยหลังจากเชื่อมสายภายในจาก PABX เข้ากับ DSLAM แล้ว  อุปกรณ์ DSLAM ก็จะมีสายแยกออกไปอีกแบบ 1 ต่อ 1

 

เตรียมอุปกรณ์กันก่อน

1. IP DSLAM (Vigor Access A24S)
2. Router ปลายทาง/CPE  (ยี่ห้อใดก็ได้ ราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท)
3. ระบบเครือข่ายที่ออกอินเตอร์เน็ตได้ (Router)

 

มาดูหน้าตาของจริงกัน

 

ภาพที่ 2

 

การติดตั้งส่วนมากจะตกม้าตายก็ตรงสาย Trunk 25 Pair ที่ต้องเชื่อมต่อเข้า PABX นี่แหละครับ  ที่จริงแล้วไม่ยากเลย  มาดูสาย 25 Pair Cable กันก่อน  ผู้เขียนจะขอแยกสีภายในให้ดูแบบเป็นคู่ๆ ตามตารางที่ 3  กันก่อน

 

ภาพที่ 3

 

จะเห็นได้ว่า  DSLAM Port ที่ 1 นั้น  คือการใช้สายสัญญาณสีขาวกับสีน้ำเงิน  ส่วน DSLAM Port ที่ 2 ใช้สายสัญญาณสีขาวกับสีส้ม  ซึ่งสาย Trunk ที่ใช้ในการเชื่อมต่อนี้  ภายในจะมีสายมาให้ 25 คู่  ซึ่งจะขดเป็นเกลียวกันมาเป็นคู่ๆ  (Twist pair)  ผู้อ่านอาจสงสัยว่า  ทำไม DSLAM รองรับเพียง 24 Port  แต่ทำไมถึงมีสายมา 25 คู่  ทั้งนี้คู่ที่ 25 นั้น  มีไว้เพื่อสำรองใช้งานกรณีสายใดสายหนึ่งชำรุดครับ  มาดูภาพของจริงกันตามภาพที่ 4

 

ภาพที่ 4

 

ในการเชื่อมต่อสาย Trunk นั้น  ตามภาพที่ 2 เส้นที่ต่อจาก PABX จะเป็นช่อง Phone ส่วนช่อง Line นั้น  จะเชื่อมต่อกับระบบโทรศัพท์ภายใน  ทีนี้เมื่อรู้และเข้าใจก็ไม่ยากแล้วล่ะครับ  คุณก็จับคู่สี  เชื่อมต่อเข้ากับ PABX ของคุณได้เลย  แบบ 1 ต่อ 1  เช่น  Extension Number 102  จากตู้ PABX ก็ต่อเข้ากับคู่สีขาว  และสีส้มเป็นต้น  จากนั้นที่ช่อง Line คุณก็เชื่อมต่อไปยังโทรศัพท์ที่เป็นเบอร์ 102  ไม่ยากเกินไปนะครับสำหรับขั้นตอนนี้  ปัญหา ADSL ในบ้านเราส่วนใหญ่ก็มาจากตรงจุดนี้ล่ะครับ  สาย Trunk 25 Pair นี้  จะมีฉนวนหุ้มอย่างดี  เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน  ในส่วนของข้อต่อสายนั้น  หากเข้าหัวไม่ดี  หรือไม่เข้าใจด้านภายภาพของสายที่ต้องขดเป็นเกลียวตลอดแล้ว  ก็จะทำให้สัญญาณ Lost ได้  ตรงจุดนี้แนะนำให้ช่างโทรศัพท์เป็นคนทำโดยตรงน่าจะดีกว่า

 

ปัญหา ADSL อีกอย่างในปัจจุบันก็คือ  การ Sync สัญญาณ ADSL ได้บ้างไม่ได้บ้าง  ซึ่งตรงจุดนี้จะเกี่ยวข้องกับ Chipset ของอุปกรณ์ ADSL Router (CPE) เป็นหลัก  หาก Chipset ในอุปกรณ์ CPE ยี่ห้อเดียวกับ DSLAM ต้นทางแล้ว  ก็จะ Sync สัญญาณกันได้ดี  แต่หาก Chipset ต่างยี่ห้อกันก็อาจมีปัญหาในการ Sync สัญญาณอยู่บ้าง  ดังนั้น  หากคุณใช้ DSLAM ของ DrayTek แล้ว  CPE ปลายทางคุณก็ควรใช้ของ DrayTek ด้วยเช่นเดียวกัน  โดยอาจใช้เป็นรุ่น Vigor 120 ซึ่งเป็น ADSL Router 1 Port LAN รุ่นที่เล็กที่สุดของ DrayTek ก็ได้

 

พูดมาถึงตรงนี้แล้ว  ก็ขอพูดถึงการแก้ไขปัญหา ADSL ตามบ้านอีกสักนิดก็แล้วกัน  หากสัญญาณ ADSL ที่เข้ามาที่บ้านคุณไม่ดีแล้ว  วิธีแก้ไขปัญหาคุณสามารถทำได้ดังนี้คือ

 

  1. เปลี่ยน Bridge Modem
  2. เปลี่ยน Spliter ตัวใหม่ (ใช้อย่างดี)
  3. ตรวจสอบจากค่า SNR (คุณภาพของสายภายใน)  และ Loop  (คุณภาพสายสัญญาณที่มาจาก DSLAM)  ค่า SNR ปกติแล้วยิ่งมากยิ่งดี  ไม่ควรต่ำกว่า 20  ส่วนค่า Loop นั้น  ยิ่งน้อยยิ่งดี  โดยปกติไม่ควรเกิน 30  ดังนั้น  หากค่าใดต่ำกว่ามาตรฐาน  ก็ให้แก้ไขให้ตรงจุดครับ

 

หน้าตา User Interface ของ Vigor Access A24S นั้น  เป็นแบบนี้ครับ

 

ภาพที่ 5

 

ลักษณะของอุปกรณ์ Vigor Access A24S นั้น  ที่จริงแล้วตัวอุปกรณ์เอาไว้สำหรับทำเป็น DSLAM ตัวลูก  คือเชื่อมต่อกับตัวแม่ (Master)  อีกชั้นหนึ่งเพื่อรับนโยบาย  และค่า Config จากส่วนกลาง  โดยปกติแล้ว  ตัวแม่ (Master)  สามารถเชื่อมต่อเข้าตัวลูกได้อีก 6 ตัว  รวมทั้งสิ้น 168 Ports  อย่างไรก็ดี  ในลักษณะของการใช้งานภายในบริษัทแล้ว  อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งทั้งระบบโดยสมบูรณ์ก็ได้  โดยสามารถติดตั้งเพียง Vigor A24S เพียงตัวเดียวก็ได้  หรือจะติดตั้ง A24S  หลายๆ ตัวแบบ Stan Alone ก็ได้  ซึ่ง Vigor A24S สามารถ Remote มาดู Status ของ DSLAM แต่ละ Port ได้  แต่ข้อจำกัดอาจอยู่ตรงที่  เวลา Reset Port DSLAM นั้น  ไม่สามารถ Reset เป็น Port ได้  จำเป็นต้อง Reset ทั้ง 24 Port ในคราวเดียวเท่านั้น  ซึ่งในลักษณะการใช้งานจริงแล้ว  การติดตั้งระบบ DSLAM ภายในสำนักงานหรือรีสอร์ทนั้น  เสถียรภาพเทียบเท่ากับการใช้ Switch เลยครับ  จึงไม่ต้องมา Restart กันบ่อยๆ ….. ขั้นตอนต่อไป  เดี๋ยวเราจะมาดูการติดตั้ง CPE ปลายทางกันว่าทำได้อย่างไร

 

การติดตั้งอุปกรณ์ Router เพื่อเชื่อมต่อ DSLAM

การติดตั้งแบบนี้  ดูๆ แล้ว  ก็คล้ายกับการติดตั้งแพคเกจ  ADSL  ของ True ที่เป็นแบบ Biz Pack เลยครับ  มาดูรูปร่างหน้าตาอุปกรณ์ที่จะติดตั้งกันก่อน

 

ภาพที่ 6

 

จากภาพที่ 6 ที่ตัวอุปกรณ์นั้น  ก็มีสัญลักษณะไฟของ Power, ACT, LAN, Wan และ Internet ซึ่งการ Sync สัญญาณ ADSL นั้นดูได้ที่ WAN

 

ภาพที่ 7

 

ด้านหลังของอุปกรณ์  มีช่อง RJ11 ไว้เสียบสายโทรศัพท์ที่ออกมาจาก Spliter และ ช่อง LAN 1 Port (RJ45)  สำหรับผู้ใช้งาน  ซึ่งหาก  DSLAM  ของลูกค้าเสียบเข้ากับ Load Balance ของ DrayTek เช่นเดียวกันแล้ว  ท่านอาจใช้คุณสมบัติของ Bind IP to MAC เพื่อจำกัดการใช้งานกับ CPE ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อได้  ซึ่งหาก CPE ตัวใดไม่ Register Mac Address ไว้ที่ Router แล้วก็จะไม่สามารถออกอินเตอร์เน็ตได้  หรือแม้แต่ Ping ไปที่ Router ก็ไม่เจอ  รายละเอียดย้อนหลังได้ที่  https://www.corecasys.com/tech/read.asp?no=223

 

ขั้นตอนที่ 1 Log เข้าสู่ Router

Default user name = admin
Default Password = (เว้นว่างไว้)
ไปที่เมนู Internet Access / MPoA (RFC1483/2684)  ตามภาพที่ 8

 

ภาพที่ 8

 

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดค่าต่างๆ ดังนี้

- MPoA (RFC1483/2684) = Enable
- Encapsulation = 1483 Bridge IP LLC
- VPI = 8
- VCI = 35
- WAN IP Network Setting = จะ Fix IP หรือ Obtain IP ก็ได้

 

เพียงแค่เท่านี้  Vigor 120 ก็สามารถออกอินเตอร์เน็ตได้แล้ว  คุณสามารถนำ Vigor 120 นี้ไปติดยังห้องพักต่างๆ ได้เลย  หรือหากต้องการกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่าน Wireless DSLAM ก็ถือเป็นตัวเลือกดีพอควร  ในสถานการณ์ที่การเดินสาย LAN ทำได้ยาก  เช่น  รีสอร์ทชายทะเลที่มีการเดินสายโทรศัพท์ไปยังห้องพักต่างๆ ไว้แล้ว

 

ระบบอินเตอร์เน็ตที่ญี่ปุ่น  และไต้หวันนั้น  ก้าวหน้ากว่าประเทศเราไปมาก  ถึงขั้นมี Fiber เดินเข้าไปตามบ้านแล้ว  โดยความเร็วเฉลี่ยที่ทราบนั้นประมาณ 50 Mbps เลยทีเดียว  ทางโรงงานเดรย์เทคฯ เอง  ในปัจจุบันก็ได้ออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Fiber Router ออกมาแล้ว  แต่ผู้เขียนจนปัญญาที่จะนำเข้ามาจัดจำหน่ายในบ้านเรา  เนื่องด้วยการให้บริการสาย Fiber บ้านเรายังไม่เป็นรูปเป็นร่างหรือเป็นวุ้นขึ้นมาเลย  แต่ยังดีที่ ADSL ในเมืองไทยนั้นสามารถแพร่กระจายให้กับผู้ใช้บริการในอัตราส่วนที่ดีทีเดียว  ก็ได้แต่หวังว่า  ประเทศจะสงบโดยเร็ว  เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งดีให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราบ้าง  ประเทศไทย  มีโครงสร้างทางสายกลางที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก  เพราะเป็นแหล่งรวมของสายธารแห่งวัฒนธรรม  ของคนหลายเชื้อชาติ ...... “ฟ้าหลังฝน  มักจะสดใสเสมอ”  ผู้เขียนและคนไทยทุกๆ คนคงหวังให้เป็นเช่นนั้นนะครับ  อะไรที่จะทำให้บ้านเมือง  และสังคมเดือดร้อน  ก็อย่าทำ  เริ่มที่ตัวเราและครอบครัวครับ

 


การศึกษายุทธวิธีในตำราพิชัยสงครามนั้น มิใช่เพื่อให้เรียนรู้เพื่อที่จะยิ่งใหญ่ แต่ควรเรียนรู้ให้เท่าทันกับสิ่งต่างๆ รอบตัว การเป็นคนดีในทุกยุคสมัยนั้น ไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิต และตั้งมั่นอยู่ได้ จำเป็นต้องเท่าทันคนชั่ว ความชั่ว กิเลสและสิ่งยั่วยวนที่แปลงสภาพมารอบทิศทาง นี่คือเหตุผลของการเรียนรู้หลักพิชัยสงคราม


ม้าดีย่อมเลือกนาย นายดีคือมีคุณธรรม ยอมทำเพื่ออุดมการณ์ แม้ความตาย ความอดอยากรออยู่ตรงหน้า ก็กล้าที่จะทำเพื่อความถูกต้อง เพื่อความสุขของบ้านเมือง การหานายดีนั้น ไม่ง่ายเลย



จากคุณ : NickService.Com [18 พฤษภาคม 2553 - 16:34:31]  

HOME  |  SOLUTION  |  PRODUCT  |  SPEED TEST  |  Check IP WAN  |  CONTACT US

© 2007 NJ Network Co.,Ltd.  TEL. 02-2497910