icon วางระบบเครือข่าย ติดต่อ info@corecasys.com  บทความที่  00441 [DrayTek Tips]
บทความนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ พ.ค. 54 (เชื่อมต่อ PABX)

การเชื่อมต่อระหว่าง PABX กับ PABX เข้าหากัน (ข้ามจังหวัด)

 

ในโลกธุรกิจ  การติดต่อสื่อสารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ  คุณภาพของสินค้าและบริการนั้น  ก็อาจวัดได้ที่การติดต่อสื่อสารเช่นกัน  ผู้เขียนได้รับคำขอจากลูกค้ารายหนึ่ง  ให้เชื่อมต่อตู้โทรศัพท์สาขา (PABX) ระหว่างโรงงานและสำนักงานใหญ่  โรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี  และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าข้าม  จ.กรุงเทพฯ  โดยปัจจุบันลูกค้ามีปัญหาดังนี้

 

โรงงานและสำนักงานใหญ่  มี Extension Number ภายในระบบเป็นจำนวนมาก  ราว 200-300 เลขหมายในแต่ละฝั่ง  มีการติดต่อสื่อสารถึงกันอยู่ตลอดเวลา  ปัจจุบันพยายามจะประหยัดค่าโทรศัพท์  โดยซื้อ Box แปลงสัญญาณมือถือมาเป็นสายโทรศัพท์  เพื่อนำมาต่อเข้าสายนอกของตู้ PABX  แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  เนื่องจากโปรโมชั่นมือถือนั้น  ไม่ได้ครอบคลุมแบบ 24x7  คือหลัง 4-5 โมงเย็นไปแล้ว  ก็เสียค่าบริการแพงเหมือนเดิม  โดยบริษัทฯ แห่งนี้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง  การทำงานของ Operator ที่นี่หนักเอาการ  เพราะต้องคอยต่อสายระหว่างโรงงานและสำนักงานใหญ่อยู่ตลอดเวลา  ก่อนหน้านี้ลูกค้าเคยติดตั้งระบบ VOIP เพื่อเชื่อมโยง PABX แล้วเหมือนกัน  แต่คุณภาพของอุปกรณ์อยู่ในเกณฑ์แย่มาก  คือล่มทุกวัน  บางวัน 2-3 ครั้ง  อีกทั้งอุปกรณ์ Voice Gateway ที่เคยนำมาเชื่อมต่อ  เวลาวางสายแล้ว  ก็ไม่ยอมตัดสายให้อีกด้วย ..... ความต้องการของลูกค้าง่ายๆ ก็คือ  ต้องการให้ PABX จากฝั่งโรงงาน  และฝั่งสำนักงานใหญ่  สามารถกด Extension Number ติดต่อถึงกันได้  ใช้งานง่าย  โดยไม่ต้องผ่าน Operator  และอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อนั้น  ต้องมีเสถียรภาพระดับ 24x7

 

คำนิยามต่างๆ  สายนอก/สายใน ตู้ PABX, FXS, FXO นั้น  ท่านสามารถดูหน้าที่และความหมายของอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทิ่ลิงค์นี้  https://www.corecasys.com/tech/read.asp?no=414

 

ในการเชื่อมโยงตู้ PABX ระหว่างสองฝั่งให้ติดต่อถึงกันได้นั้น  ทางทฤษฎีแล้ว  สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ 2 รูปแบบ  คือการเชื่อมโยงผ่านสายนอกของตู้ PABX  โดยการเชื่อมต่อแบบนี้  ส่วนใหญ่แล้วจะผ่าน Operator และการเชื่อมโยงจากสายในของ PABX ให้สามารถติดต่อถึงกันได้เลย  อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเชื่อมต่อรูปแบบใด  จำเป็นต้องมีการปรับแต่งฟังก์ชั่นการทำงานบนตู้ PABX บ้าง  เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

โดยปกติแล้ว  ตู้ PABX ทุกยี่ห้อทุกรุ่น  จะสามารถกำหนดฟังก์ชั่นที่เรียกว่า Hunting Group ได้  ฟังก์ชั่นนี้จะเป็นการกำหนดให้สายในสามารถโทรออกผ่านสายนอกใน Port ไหนได้บ้างเป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น  หากตู้ PABX ของคุณเป็นแบบ 3 สายนอก 8 สายใน  คุณสามารถกำหนดได้ว่า  ตัด 9 แล้วให้โทรออกผ่านสายนอก Port ที่ 1 และ 2  หากตัด 6 ให้โทรออกผ่านสายนอก Port ที่ 3 เป็นต้น  และเช่นเดียวกัน  Hunting Group สามารถกำหนดที่สายในได้เช่นกัน  เช่น  คุณมีเบอร์โทรศัพท์ภายใน 8 เบอร์ 101-108  คุณสามารถกำหนดได้ว่า  หากดังที่เบอร์ 101 แล้ว  สายไม่ว่างให้ไปดังที่เบอร์ 102 เป็นต้น  ทีนี้มาดู Diagram การเชื่อมโยงตู้ PABX กันก่อนว่า  ผู้เขียนได้ออกแบบระบบไว้อย่างไรตามภาพที่ 1

 

ภาพที่ 1

 

เพื่อให้การใช้งานนั้นง่าย  ผุ้เขียนจึงออกแบบระบบโดยการให้ผู้ใช้ภายในระบบ  ตัด 6 แล้วกดเบอร์โทรภายในของฝั่งปลายทางที่ต้องการจะโทรไปได้ทันที  โดยลักษณะการทำงานจะเป็นตามภาพที่ 1 คือ  เมื่อตัด 6 แล้ว  จะโทรออกไปยังสายนอกที่ระบุ Port ไว้  ผู้เขียนใช้ฟังก์ชั่น Hotline (ฟังก์ชั่นนี้  เมื่อยกหูโทรศัพท์แล้ว  จะโทรไปยังเบอร์ปลายที่ต้องการในทันที)  ที่การ์ด FXS ยิงไปยัง Card FXO ของฝั่งปลายทาง  เมื่อ FXO ปล่อยสัญญาณให้การ์ด FXS แล้ว  ก็จะสามารถกดเบอร์ภายในของ Extension ฝั่งปลายทางได้ทันที  การเชื่อมโยงสำหรับลูกค้ารายนี้  ผู้เขียนใช้ Card FXS 1 อัน (4 Port) และ Card FXO 1 อัน (4 Port)  ทั้งสองฝั่ง  ซึ่งเมื่อติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว  จะสามารถทำให้ฝั่งโรงงานโทรไปยังสำนักงานใหญ่ได้ 4 เบอร์พร้อมๆ กัน  และสำนักงานใหญ่โทรไปยังฝั่งโรงงานได้ 4 เบอร์พร้อมๆ กัน  เช่นกัน  รวมทั้งสิ้น 8 คู่สาย  ทีนี้เรามาดูอุปกรณ์กันบ้างว่า  ต้องใช้อุปกรณ์อะไรกันบ้าง

 

อุปกรณ์ที่ต้องใช้  (ภาพที่ 2)
1.  Vigor 3300v จำนวน 2 ตัว
2. Card FXS จำนวน 2 ตัว
3. Card FXO จำนวน 2 ตัว

 

ภาพที่ 2

 

ในทางทฤษฎีแล้ว  อุปกรณ์อุปกรณ์ประเภท FXS และ FXO นั้น  จะมีเบอร์ภายในของตัวมันเองอยู่ 2 เบอร์ด้วยกัน  คือเบอร์โทรของ PABX และเบอร์โทรของ Sip Server ที่ FXS และ FXO ไป Register อยู่  ลองดูตามภาพ Diagram ที่ 3

 

ภาพที่ 3

 

เมื่ออุปกรณ์ FXS และ FXO ติดต่อไปยัง Sip Server ตัวเดียวกันแล้ว  กฎของ Sip Server ที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้แล้วคือ  หากเป็น Sip Server เดียวกันก็จะสามารถโทรติดต่อถึงกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  เป็นอย่างนี้ทุกที่  ไม่ว่จะเป็น TOT Net Call, Cat2Call Plus, Ji-Net Mouthmun ฯลฯ  ซึ่งหลังจากเชื่อมโยงไปยัง Sip Server ตัวเดียวกันแล้ว  ก็กำหนดให้ FXS และ FXO ติดต่อหากันดังภาพที่ 4

 

ภาพที่ 4

 

เมื่อ FXS และ FXO ติดต่อถึงกันตามภาพที่ 4 แล้ว  เมื่อยกหูโทรศัพท์ Port FXS ฝั่งใด  ก็จะสามารถเชื่อมโยงไปยัง FXO ฝั่งปลายทางได้เลย  และเมื่อ FXO ส่งสัญญาณในการโทรออกได้แล้ว  ก็สามารถกดเบอร์ Extension Number ของ PABX ฝั่งปลายทางได้เช่นกัน ..... ที่จริงแล้วการเชื่อมโยง PABX นั้นสามารทำได้หลายรูปแบบ  แบบที่ผู้เขียนนำเสนอนี้  เป็นการเชื่อมโยงจากสายนอก  เข้าไปยังสายใน  เพื่อความสะดวกในการใช้งาน  แต่หาก PABX ไม่มีสายนอกเหลืออยู่เลย  ก็สามารถใช้สายในของ PABX เชื่อมต่อถึงกันได้  โดยกำหนด Hunting Group สายในเท่านั้น  ซึ่งสามารถพลิกแพลงตามสถานการณ์และข้อจำกัดได้อย่างไม่ยากเย็น

 

เมื่อได้รูปแบบ Diagram ที่ครบถ้วนแล้วทีนี้มาดูขั้นตอนปฏิบัติจริงกันว่าจะกำหนดที่ตัวอุปกรณ์อย่างไรบ้าง  ก่อนจะกำหนดค่าต่างๆ ที่ตัวอุปกรณ์นั้น  ก็ควรรู้ถึงคุณสมบัติของอุปกรณ์กันคร่าวๆ ก่อน  Vigor 3300v นั้น  เป็น Load Balance สำหรับงานหนักโดยเฉพาะ  โดยมี 4 WAN Port และ 4 LAN Port คุณสมบติของ FXS และ FXO ของ 3300v นั้น  รองรับฟังก์ชั่นการทำงานแบบ Hot Line  อีกทั้งยังสามารถรองรับ Protocol G729a ได้อย่างแท้จริง  ซึ่งหากใช้ Protocol นี้แล้ว  จะใช้ Bandwidth ในการติดต่อระหว่าง VOIP เพียง 8k ต่อ 1 คู่สายเท่านั้น  มาดูขั้นตอนการกำหนดง่ายๆ กัน

 

ขั้นตอนที่ 1

กำหนด Profile ของ Sip Server ที่จะเชื่อมต่อก่อน  โดยไปที่เมนู VOIP > Protolcol  ตามภาพที่ 5  (จากภาพตัวอย่างผู้เขียนกำหนดเป็น Sip Server ของ TOT Net Call)

 

ภาพที่ 5

 

ขั้นตอนที่ 2

กำหนด Sip Account ให้ Port FXO เพื่อที่เบอร์โทรภายใน Sip Server จะได้สามารถเรียกมายัง Port FXO ดังกล่าวได้  (FXO ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์โดยตรงได้  ต้องเชื่อมต่อเข้าสายในของ PABX เท่านั้น)  ซึ่งเมื่อเรียกมายังเบอร์ FXO Port ดังกล่าวแล้วก็จะได้ยินสัญญาณในการโทรออกไปยัง PABX ของระบบนั้นๆ  โดยเข้าไปที่เมนู VOIP Port Setting > เลือก Port FXS  ตามภาพที่ 6

 

ภาพที่ 6

 

Radio Button = Enable
User Name = 060007xxxx  (ใส่ User Name ของ Sip Server)
Password = ใส่ Password ของ Sip Server
Proxy Server = เลือก Profile ที่สร้างไว้ตามภาพที่ 5
Play dial tone only when port registered = yes
Preferred Codec = G729a (ใช้ Protocol นี้จะไม่มีปัญหาเรื่อง Bandwidth ครับ)

 

ขั้นตอนที่ 3

หลังจาก Register Port FXO ครบทุก Port ทั้ง 2 ฝั่งแล้ว  ทีนี้ก็มากำหนด Sip Account และ Hotline Function ที่ Port FXS กัน  โดยเข้าไปที่เมนู  VOIP > Port Setting > เลือก Port FXS ตามภาพที่ 7  (ลักษณะคล้ายกับการ Register ที่ Port FXO เพียงแต่เพิ่ม Extension Number ที่ช่อง Hotline เท่านั้น)

 

ภาพที่ 7

 

Radio Button = Enable
User Name = 060007xxxx  (ใส่ User Name ของ Sip Server)
Password = ใส่ Password ของ Sip Server
Proxy Server = เลือก Profile ที่สร้างไว้ตามภาพที่ 5
Play dial tone only when port registered = yes
Preferred Codec = G729a (ใช้ Protocol นี้จะไม่มีปัญหาเรื่อง Bandwidth ครับ)
Hotline Number to Internet = เบอร์ของ Sip Server ปลายทางที่ต้องการเรียก

 

หลังจากติดตั้ง Account Sip Server และฟังก์ชั่น Hotline ที่ FXS ทุกพอร์ตครบทั้ง 2 ฝั่งแล้ว  ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนของการทดลองใช้งานจริงกัน  โดยให้ท่านนำสายโทรศัพท์ภายในจากตู้ PABX ทั้งสองฝั่งมาเสียบเข้าที่ช่อง FXO  จากนั้นลองหาโทรศัพท์ธรรมดามาเสียบเข้าที่ช่อง FXS หากยกหูแล้ว  สามารถกด Extension Number ของเบอร์โทรปลายทางได้ก็ถือว่าสำเร็จ  พร้อมต่อเข้าระบบเต็มรูปแบบได้เลย

ประโยชน์ที่จะได้รับหลังระบบแล้วเสร็จ
1. เบอร์โทรภาในทุกเบอร์ในโรงงานและสำนักงานใหญ่ สามารถโทรหากันได้ โดยตัด 6
2. โรงงานและสำนักงานใหญ่ สามารถโทรหากันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
3. โรงงานโทรไปสำนักงานใหญ่ และสำนักงานใหญ่โทรไปโรงงานได้พร้อมกันได้ฝั่งละ 4 คู่สาย
4. ระบบเสถียรภาพสูง รองรับการทำงานแบบ 24x7 (Vigor 3300v รับโหลดหนักอยู่แล้ว)

 

จากประสบการณ์การทำ VOIP ที่ผ่านมานั้น  VOIP Provider ค่ายต่างๆ นั้น  Sip Server อาจมีล่มบ้างครับ  เนื่องจากมีผู้ใช้เป็นปริมาณมาก  แต่จะล่มมากหรือน้อยนั้น  ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ  และจิตสำนึกของแต่ละค่าย  ผู้เขียนไม่สามารถบอกเล่าตรงนี้ได้โดยตรง  เดี๋ยวจะถูกฟ้องร้องเอา  ทั้งนี้หากต้องการเสถียรภาพสูงสุด  ก็ควรจะมี Sip Server ของตัวเองก็จะดีกว่า

 

การเชื่อมโยง PABX ดังที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมานี้  สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์กับทุกบริษัทได้  ปัญหาที่พบโดยมากนั้นจะเกิดจากอุปกรณ์ประเภท FXS และ FXO นั้นไม่ได้มาตรฐาน  หรือเป็นอุปกรณ์ลักษณะ Home Use  ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใช้ตามบ้าน  หากใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ก็จะต้อง Reset อุปกรณ์บ่อยๆ  จึงไม่เหมาะสำหรับเชื่อมโยงเข้าตู้สาขาที่จำเป็นต้องใช้งานแบบ 24x7  ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่มักพบโดยมากก็คือ  การ์ด FXO ไม่สามารถจูนให้เข้ากับ PABX ได้อย่างแม่นยำ  ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในลักษณะที่พอวางสายแล้ว  สายไม่ยอมตัด  เนื่องจาก FXO ไม่รู้จัก Busy Tone ที่ถูกต้องของตู้ PABX  โดยปัญหานี้ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้แล้วในบทความก่อนหน้านี้ฉบับเดือน มี.ค. 54  หรือดูรายละเอียดได้ที่  https://www.corecasys.com/tech/read.asp?no=432

 

 

จากคุณ : NickService.Com [14 มีนาคม 2554 - 10:13:41]  

HOME  |  SOLUTION  |  PRODUCT  |  SPEED TEST  |  Check IP WAN  |  CONTACT US

© 2007 NJ Network Co.,Ltd.  TEL. 02-2497910