VPN ศาสตร์และศิลป์
พลิกแพลงการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้ขีดจำกัด
ในอดีต การเชื่อมโยงเครือข่ายแบบ VPN มักจะทำกันในลักษณะ Gateway to Gateway แต่ในปัจจุบัน การเชื่อมโยงเครือข่ายสามารถพลิกแพลงรูปแบบต่างๆ ได้มากมายตามความต้องการ และงบประมาณ มาดูกลวิธีการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบต่างๆ กัน
1. แบบพื้นฐาน Gateway to Gateway
รูปแบบนี้เหมาะสำหรับการเชื่อมโยงระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขาที่ใช้ปริมาณ Bandwidth ไม่มาก โดยสายสัญญาณในการใช้อินเตอร์เน็ต และสายสัญญาณในการเชื่อมโยงเครือข่ายจะอยู่รวมกันในเส้นเดียว ซึ่งหากใช้ Router ที่มีคุณสมบัติการทำ QOS ได้ทั้งแบบ IP และแบบ Port ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงเครือข่ายได้
2. แบบแยกสายสัญญาณในการเชื่อมโยงเครือข่าย ออกจากสายอินเตอร์เน็ต
หากท่านใช้ ADSL เชื่อมโยงเครือข่ายตามรูปแบบนี้ ท่านจะได้ Speed อยู่ที่ประมาณ 400-500 Kbps เทคนิคนี้ ไม่ว่าท่านจะใช้อินเตอร์เน็ตมากเพียงใด ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยสายที่ใช้เชื่อมโยงเครือข่ายจะใช้ IP Address ขาใน 1 IP ในการ Route เข้าสู่เครือข่ายอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่ง Router ที่สามารถทำคุณสมบัตินี้ได้ จะต้องมี Function Static Route ภายในตัวอุปกรณ์ด้วย
3. แบบประหยัดงบประมาณ ด้วยการใช้ Load Balance Router ทำ VPN Backup
การเชื่อมโยงเครือข่ายแบบนี้ ท่านจะได้ Speed ในการเชื่อมโยงเครือข่าย อยู่ที่ประมาณ 400-500 Kbps เช่นเดียวกัน แต่จะมีอินเตอร์เน็ต และ VPN เสถียรภาพสูงกว่า เทคนิคนี้ โดย Router ที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายในรูปแบบนี้ได้ จะต้องสามารถบังคับและกำหนด Port Application ทั้งขาเข้าและขาออกให้ออกผ่าน WAN ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องมี Function VPN Backup ด้วย ซึ่งหากอินเตอร์เน็ตเส้นใดเส้นหนึ่งล่ม อินเตอร์เน็ตอีกเส้นหนึ่งก็จะทำหน้าที่แทนกันทันที และเช่นเดียวกัน ไม่ว่า VPN ขาใดขาหนึ่งหลุด อินเตอร์เน็ตอีกเส้นหนึ่งที่เหลือ ก็จะเชื่อมต่อ VPN ทันทีเช่นเดียวกัน
4. เชื่อมโยงเครือข่ายโดยใช้ VPN Load Balance ควบคู่กับ Static Route
หากท่านเชื่อมโยงเครือข่ายในลักษณะนี้โดยใช้ ADSL ท่านจะได้สายสัญญาณในการเชื่อมโยงเครือข่าย 400-500 Kbps เช่นเดียวกัน แต่จะสามารถใช้งานหลายๆ เครื่องพร้อมกันได้ โดยที่ Speed ไม่ตก เพราะ VPN Load Balance จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่สำนักงานใหญ่
5. การประยุกต์ใช้ Terminal Server เพื่อลดการใช้งาน Bandwidth
หากพูดถึงเทคโนโลยี Terminal Server หรือ Thin-Client หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่ามันคืออะไร แต่หากพูดถึงการใช้ Remote Desktop ที่มีมากับ Windows ล่ะ คงจะคุ้นกันมากขึ้น ที่กล่าวถึงเทคโนโลยีนี้ก็เพราะ Bandwidth ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเครื่อง Remote Desktop Client กับเครื่อง Terminal Server นั้น น้อยมาก (ประมาณ 2K เท่านั้น หากใช้โหมด 256 สี / ปิดเสียง / ปิด Theme Support) ดังนั้นหากท่านต้องการเชื่อมโยงโปรแกรมประเภทโปรแกรมบัญชี หรือโปรแกรมประเภท ERP ซึ่งมี Database ก้อนโตอยู่ที่สำนักงานใหญ่แล้ว ท่านอาจติดตั้ง Terminal Server เพื่องานนี้โดยเฉพาะก็ได้ เพื่อลดปริมาณการรับส่งฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือเพื่อให้การเชื่อมโยงข้อมูลนั้น มีประสิทธิภาพสูงสุด
การเชื่อมโยงเครือข่ายในปัจจุบันนั้น สามารถพลิกแพลงรูปแบบได้หลากหลายความต้องการโดยในปัจจุบันไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ตายตัวได้ หากแต่หลักสำคัญที่ควรจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือ เสถียรภาพของตัวอุปกรณ์ ฟังก์ชั่นที่จำเป็นในการใช้งาน และการเลือกรุ่นของอุปกรณ์ให้ตรงกับขนาดองค์กร ..... หากท่านเข้าใจหลักเกณฑ์พื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ท่านเองก็สามารถพลิกแพลงรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่ายในแบบของท่านได้เองเช่นกัน ดังคำกล่าวของซุนวูที่ว่า กองทัพที่เยี่ยมยุทธ์ คือกองทัพที่ไร้รูปแบบในการศึก และสามารถพลิกแพลงได้ตามตามสถานการณ์อย่างยอดเยี่ยม (กองทัพเทพ นั่นเอง)
รายละเอียดด้านเทคนิคการติดตั้ง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.corecasys.com/tech