icon วางระบบเครือข่าย ติดต่อ info@corecasys.com  บทความที่  00414 [DrayTek Tips]
บทความนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ ม.ค. 54 (ประยุกต์ใช้ VOIP)

 

 

การประยุกต์ใช้ VOIP ภายในองค์กร

 

มวลสารต่างๆ บนโลกใบนี้  เมื่อมีการเคลื่อนที่  เคลื่อนย้าย  หรือมีปฏิสัมพันธ์กัน  อนุภาคต่างๆ จะมีการเสียดสี  สสารจะเกิดการเรียงตัว  เกิดแรงสั่นสะเทือน  ก่อให้เกิดพลัง  เช่นน้ำ  เมื่อมีปริมาณมากก็จะไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ  หากติดตั้งใบพัดไว้ในจุดที่เหมาะสม  เช่นที่เขื่อน  ก็จะเกิดพลังงานไฟฟ้า  หรือแม้แต่เงิน  เมื่อมีปริมาณมากขึ้น  หากบริหารจัดการอย่างถูกต้อง  รู้จักวางในตำแหน่งที่เหมาะสม  มันก็จะขยายปริมาณของตัวมันเองมากขึ้นตามลำดับ

 

ธุรกิจก็เช่นกัน  พื้นฐานของธุรกิจ  เกิดจากความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนสินค้า  การแลกเปลี่ยนสินค้าต้องมีการปฏิสัมพันธ์  หากธุรกิจเดินไปได้สักระยะหนึ่ง  เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น  และสามารถรักษาระดับคุณภาพของสินค้า  บริการไว้ได้คงที่  มีช่องทางการสื่อสารที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย  มีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบไปมา  วงจรของธุรกิจก็จะขับเคลื่อน  และขยายตัวเองเป็นลำดับ  ในอดีตที่ผ่านมาราวร้อยกว่าปีเศษ  การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์นั้น  ถือเป็นช่องทางที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กัน  ระบบโทรศัพท์เกิดขึ้นมาโดยอาศัยสื่อสายทองแดงเป็นหลัก  มีการคิดค่าบริการในแต่ละครั้ง  ยิ่งระยะทางไกล  อัตราค่าบริการก็จะแพงมากขึ้นตามลำดับ

 

เมื่อเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น  และเทคโนโลยีนี้  ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  ทุกอย่างฟรีหมด  จึงก่อให้เกิดการแปลงสภาพกลับ  จากสูงสุดกลับคืนสู่สามัญ  จากสายทองแดง (Fiber) ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลนั้น  เกิดการแปลงสภาพ  เริ่มมีกระบวนการและใช้เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต  ให้กลับกลายมาเป็นการรับส่งสัญญาณเสียง (ภาพ) ดังเดิม  แต่ฟรี  คือไม่มีการคิดค่าบริการใดๆ  ซึ่งในบทความนี้  ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ VOIP (Voice over Internet Protocol)  ในรูปแบบต่างๆ ภายในองค์กร

 

ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายหน้าที่ของอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน  โดยขอเน้นคำจำกัดความที่สั้นกระชับ  และไม่ขอกล่าวถึงทฤษฎีในเชิงลึกมากนัก  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้  และประยุกต์ใช้งานได้จริง  ทั้งนี้หากขาดตกบกพร่องไปบ้าง  ก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

 

1. Sip Server/IP PBX  อุปกรณ์นี้ทำหน้าที่เป็นตัวจัดสรรเส้นทางสำหรับอุปกรณ์ลูกข่ายต่างๆ  โดยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามายัง Sip Server หรือ IP PBX เช่น Voice Box, VOIP Phone หรือ Soft Phone เป็นต้น  ซึ่งเมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นเชื่อมต่อมายัง Sip Server แล้วก็จะสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ในรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเสียง  หรือภาพ  เช่น Voice Box ตัวที่ 1 สามารถติดต่อกับ Voice Box ตัวที่ 2 ได้  โดยการกดปุ่มโทรศัพท์  เป็นต้น  ตัวอย่างโปรแกรมที่ทำหน้าที่ Sip Server เช่น Asterisk, Yate, OnDo Sip Server ฯลฯ ...... Sip Server นั้นทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับ IP PBX แต่จะแตกต่างกันตรงที่  อุปกรณ์ IP PBX นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำออกมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ (Hardware Base)  การติดตั้ง Sip Server นั้นไม่ง่ายเลย  ต้องรู้จักการจัดสรร Bandwidth อย่างดี  เพราะเสียง Delay ไม่ได้  ไม่เหมือนการรับส่งข้อมูลประเภท Data  และยังต้องรู้ถึง Requirement ของ Protocol แต่ละตัวที่ใช้  เช่น  G.711a/u กับ T.39  อาจเหมาะสำหรับใช้รับส่งแฟ็กซ์  Protocol G.722 อาจเหมาะสำหรับการเน้นคุณภาพเสียงที่คมชัด  และ G.729 อาจเหมาะสำหรับสถานการณ์ที่ Bandwidth ไม่เพียงพอเป็นต้น  ในเชิงลึกแล้ว  Sip Server ยังสามารถทำ Trunk เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายถึงกันได้  และสามารถบันทึกเสียง  ทำระบบฝากข้อความ  ฯลฯ  ซึ่งอะไรที่ระบบตู้ PABX ทำได้ระบบ Sip Server หรือ IP PBX ก็ทำได้เหมือนกัน  และดีกว่าอีกด้วย

 


ภาพที่ 1 ตัวอย่างภาพอุปกรณ์ IP PBX

 

2. Voice Box  เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อไปยัง Sip Server โดยอุปกรณ์นี้จะมี Interface ในการเชื่อมต่อโทรศัพท์พื้นฐานธรรมดา  ซึ่งหาก Voice Box สามารถ Register ไปยัง Server ได้ถูกต้องแล้ว  เมื่อเอาโทรศัพท์พื้นฐาน Analog เชื่อมต่อกับ Voice Box ก็จะสามารถโทรออกไปยังปลายทางได้  และหาก Sip Server นั้นมีการเชื่อมต่อกับ Voice Provider ภายนอกด้วย  ก็สามารถโทรออกไปยังเลยหมายภายนอกได้ด้วยเช่นกัน  โดยปกติแล้ว Voice Box จะประกอบไปด้วย Port LAN แบบ RJ45 อย่างน้อย 1 Port เอาไว้สำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต  และ Port แบบ RJ11 (หัวต่อสายโทรศัพท์) อย่างน้อย 1 Port เอาไว้สำหรับเชื่อมต่อกับโทรศัพท์  ดังภาพที่ 2.1 และ 2.2

 


ภาพที่ 2.1 Voice Box แบบที่ 1

 


ภาพที่ 2.1 Voice Box แบบที่ 2

 

3. Voice Provider คือผู้ให้บริการ VOIP ในเมืองไทย  ที่จริงแล้วเสมือนหนึ่งผู้ให้บริการ Sip Server ภายนอกนั่นเอง  แต่ Sip Server ของ Voice Provider นั้นจะสามารถเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายอื่นๆ ได้เช่น  ระบบโทรศัพท์มือถือ  ระบบโทรศัพท์ธรรมดาภายในประเทศ  หรือระบบโทรศัพท์ประเทศ  (ในด้านเทคนิคแล้ว Sip Server ของ Voice Provider นั้นมีการทำ Trunk เชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายต่างๆ นั่นเอง  เช่น True, CAT, TOT เป็นต้น)  ซึ่งหากนำอุปกรณ์ Voice Box, Soft Phone หรือ VOIP Phone เชื่อมต่อไปยัง Voice Provider แล้ว  ก็จะสามารถโทรติดต่อสื่อสารกับระบบโทรศัพท์พื้นฐานธรรมดาหรือโทรศัพท์มือถือก็ได้  ตัวอย่าง Voice Provider ในเมืองไทย เช่น TOT Net Call, Ji-Net Mouthmun, True Net Talk, Cat2Call Plus, Thookdee เป็นต้น  แม้ว่าอัตราค่าบริการการโทรของ Voice Provider อาจสู้โปรโมชั่นมือถือไม่ได้เต็มที่  แต่อย่าลืมว่า  อรรถประโยชน์  ในการเชื่อมต่อเข้ากับตู้ PABX ขององค์กรนี้น  จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก  (ตามภาพที่ 6, 7, 8)  อีกทั้งโปรโมชั่นของ Voice Provider ทุกจ้าวนั้นเป็นแบบ 24x7 คือไม่จำกัดเวลา  และเครือข่ายอีกด้วย  ซึ่งหากประยุกต์  VOIP  กับการติดต่อสื่อสารกับสาขาระหว่างประเทศด้วยแล้ว  เรียกได้ว่า  การสื่อสารผ่าน VOIP นั้นเป็นช่องทางที่ถูกที่สุดเลยก็ว่าได้  ตารางอัตราค่าบริการ VOIP คร่าวๆ ตามตารางที่ 3

 

ตารางที่ 3  ตารางเปรียบเทียบอัตราค่าบริการของ Voice Provider ต่างๆ

 

จากตารางที่ 3 หากท่านมี Sip Server หรือ IP PBX เป็นของตัวเองแล้ว  ท่านสามารถกำหนดโปรโมชั่นหลากหลายเหล่านี้เพื่อความสะดวกในการใช้งานได้  เช่นหากโทรในไทย  ให้โทรออกผ่าน TOT Net Call โดยอัตโนมัติ  หากโทรออก สิงค์โปร  ให้โทรออก Ji-Net โดยอัตโนมัติ  เป็นต้น  และยังมีลูกเล่นอื่นๆ อีกมากมายที่จะกล่าวถึงในขั้นตอนถัดไป  กฎของ Voice Provider ในเมืองไทยทุกจ้าวอย่างนึงก็คือ  หากโทรหาภายในเครือข่ายเดียวกัน  (ฟรีครับ)  ซึ่งในหัวข้อถัดไป  จะมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้  ความฟรี  ตรงนี้ด้วย  โดยไม่ต้องมี Sip Server เป็นของตัวเอง  แต่อาศัย Sip Server ของ Voice Provider  (ตามภาพที่ 6 และ 7)

 

4. Soft Phone  เป็น Software ที่ทำหน้าที่เหมือน Voice Box  คือลงโปรแกรมที่ Notebook หรือ PC และใช้ Microphone กับลำโพง ติดต่อสื่อสาร  เสมือนหนึ่งเป็นโทรศัพท์  โปรแกรม Soft Phone แบบแจกฟรีนั้นก็มี เช่น X-Lite เป็นต้น  หรือหากท่านซื้อผลิตภัณฑ์ประเภท Sip Server หรือ IP PBX แล้ว  อุปกรณ์เหล่านั้นก็จะแถม Soft Phone มาให้ท่านเพื่อใช้งานด้วย  ตัวอย่างโปรแกรม Soft Phone ตามภาพที่  4.1  คุณลักษณะของโปรแกรม Soft Phone คือสามารถใส่ข้อมูลพื้นฐานได้เหมือนกับ Voice Box เช่น IP Sip Server, User Name, Password เป็นต้น  ตามภาพที่ 4.2

 


ภาพที่ 4.1  ตัวอย่างฟรีแวร์  โปรแกรม X-Lite

 


ภาพที่ 4.2  ตัวอย่างการกำหนดค่าในโปรแกรม Soft Phone

 

5. VOIP Phone  มีลักษณะเหมือน Voice Box แต่จะพิเศษตรงที่  ไม่จำเป็นต้องต่อโทรศัพท์เพิ่มเติม  เพราะรวมระหว่าง Voice Box กับโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว  VOIP Phone บางรุ่นสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเสียบ Adapter คือรับไฟจากสาย LAN ได้เลยผ่านเทคโนโลยี 802.3af หรือ 802.3at ได้เลย  (เชื่อมต่อกับ POE Switch)  ตัวอย่าง VOIP Phone ดังภาพที่ 5

 


ภาพที่ 5  ตัวอย่างอุปกรณ์ประเภท VOIP Phone

 

6. FXS/FXO  เป็นมาตรฐานของ Port ที่มีอยู่ใน Voice Box ในการเชื่อมต่อเข้ากับระบบตู้โทรศัพท์ PABX ซึ่ง Voice Box ที่มี Port FXS นั้นหมายถึง  Port นั้นเมื่อต่อเข้ากับโทรศัพท์ธรรมดาแล้ว  เมื่อยกหู  ก็จะสามารถโทรออกไปยังภายนอกได้เลย  Port FXS นั้นนิยมเชื่อมต่อเข้ากับขานอกของตู้ PABX เป็นหลัก  เช่นตัด 9 แล้วให้โทรออกยัง Port สายนอกที่เชื่อมต่อ FXS ไว้แล้วเป็นต้น  ส่วน Voice Box ที่มี Port เป็นแบบ FXO นั้น  ไม่สามารถต่อกับโทรศัพท์ธรรมดาได้  ต้องต่อเข้าที่ขาในของตู้ PABX  ซึ่งเมื่อมีการโทรเข้ามายัง Port FXO แล้ว  ก็จะได้สัญญาณเหมือนสายว่าง  และสามารถโทรติดต่อไปยัง Extension ต่างๆ ภายในตู้ PABX นั้นๆ ได้เป็นต้น

 

7. ตู้ PABX  (สายนอก/สายใน)  อุปกรณ์ประเภทนี้  ในอดีตเคยมีราคาสูงมาก  แต่ในปัจจุบัน  ราคาปรับลดลงไปมาก  ตู้ PABX นั้นโครงสร้างโดยหลักแล้วจะมี Port สำหรับเชื่อมต่อคู่สายภายนอก  และมี Port สำหรับเชื่อมต่อคู่สายภายใน  หน้าที่ของตู้ PABX นั้น  ก็เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างโทรศัพท์ภายในองค์กรด้วยกัน  และใช้โอน-รับสายจากภายนอกนั่นเอง

 

หลังจากท่านได้เข้าใจคำนิยาม  และหน้าที่ของอุปกรณ์ต่างๆ  พอสังเขปแล้ว  ทีนี้ลองมาดูถึงการประยุกต์ใช้งานกันบ้าง  ว่าท่านสามารถประยุกต์ใช้งาน VOIP ภายในองค์กรในรูปแบบไหนได้บ้าง  เริ่มตั้งแต่งบประมาณถูกสุด 3,000-4,000 บาท  ไปจนถึงการมี Sip Server หรือ IP PBX เป็นของตนเองกันเลย  ตามภาพที่ 6

 


ภาพที่ 6 การเชื่อมต่อ Voice Box Port FXS กับ PABX

 

ภาพที่ 6 นี้เป็นการประยุกต์ใช้ VOIP แบบประหยัดที่สุด  ภาพนี้คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสาขาก็ได้  ใช้งานแบบสาขาที่ 1 แบบเดียวก็ได้  ในรูปแบบนี้  คุณไม่จำเป็นต้องมี Sip Server เป็นของตัวเอง  เรียกว่าอาศัย Sip Server จาก Voice Provider ติดต่อถึงกันเท่านั้น  หากคุณเน้นโทรออก  ก็อาจใช้บริการจาก TOT Net Call ก็ได้เพราะนาทีละ 25 สตางค์  แต่หากคุณเน้นเอาไว้เชื่อมโยงเครือข่ายของคุณเอง  คุณก็อาจใช้ Jinet Mouthmun ก็ได้  ซึ่งจ่ายเงินทีเดียว  ใช้ Account นั้นได้นานเท่าไหร่ก็ได้

 

หลังจากใช้ Voice Box Register ไปยัง Sip Server ภายนอกแล้ว  ก็ให้คุณนำสาย RJ11 จาก Voice Box เชื่อมต่อเข้ากับขานอกของตู้ PABX  ซึ่งตู้ PABX ทุกรุ่นนั้นจะมีฟังก์ชั่นการทำ Dialing Group ได้  เช่นสมมุติ  คุณมีสายนอก 4 คู่สาย  คุณสามารถกำหนดได้ว่า ตัด 9 ให้โทรออกผ่านสายนอก Port ที่ 1-3  และตัด 8 ให้โทรออกสายนอก Port ที่ 4 เป็นต้น  ดังนั้นคุณก็เอาสายจาก Voice Box มาเชื่อมต่อเข้ากับ Port ที่ 4  คุณก็จะสามารถใช้ระบบ VOIP ได้แล้ว  เมื่อตัด 8  หากคุณโทรหากันระหว่างสาขา  ก็ตัด 8 และกดเบอร์ของ Voice Provider ปลาทางสาขาที่ 2 ได้เลย  ซึ่งการติดต่อหากัน  จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  เพราะ Sip Server เดียวกัน  โทรหากันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ข้อดีของระบบนี้คือถูกมาก  ใช้งบประมาณในการติดตั้งเฉพาะค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 4,000 บาท  แต่ข้อจำกัดจะอยู่ที่  เมื่อเราอาศัย Sip Server จากภายนอกแล้ว  เราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย  ต้องพึ่งพาเขาอย่างเดียว  ต้องใช้ Promotion ของเขาจ้าวเดียวเท่านั้น  และการใช้งานระหว่างสาขา  อาจยุ่งยาก  เพราะต้องกดเบอร์ Voice Provider ปลายทางก่อน  แล้วต่อเบอร์ Extension ปลายทางอีกครั้ง  ซึ่งในการประยุกต์ใช้งาน VOIP นั้น  สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะละเลยเสียมิได้คือ  ต้องทำให้การใช้งานนั้นง่ายที่สุด

 

การติดตั้งตามภาพที่ 6 นี้  ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ  ควรแยก Subnet ของอุปกรณ์ Voice Box ออกจากเครื่องลูกข่าย  หรือทำ VLAN เอาไว้  เพื่อป้องกันการ Broadcast รบกวนจากไวรัสภายในระบบ  และที่จะขาดเสียไม่ได้อีกอย่างคือฟังก์ชั่น QOS (Quolity of Service)  ซึ่งฟังก์ชั่นนี้จะจัดลำดับความสำคัญของการใช้ Bandwidth  เช่นหากมีการเรียกใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่าง Voice Box กับเครื่องลูกข่ายภายในระบบ  Voice Box จะต้องได้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก่อนเสมอ  (อย่าลืมว่า Voice นั้น Delay ไม่ได้) ..... ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ SI หลายจ้าว  ตัดปัญหาตรงจุดนี้ออกไป  โดยใช้สายอินเตอร์เน็ต 1 เส้น  เฉพาะ Voice Box อย่างเดียวเลย  ซึ่งก็จะทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยใช่เหตุ  Diagram ต่อไปตามภาพที่ 7 นั้น  จะเป็นการเชื่อมต่อตู้ PABX ถึงกันโดยใช้ Port FXO

 

 
ภาพที่ 7 การเชื่อมต่อ Voice Box Port FXO กับ PABX

 

จากภาพที่ 7 แทบจะเหมือนกับภาพที่ 6 แต่จะแตกต่างกันตรงที่อุปกรณ์ Voice Box เป็น Port แบบ FXO และการเชื่อมต่อกับตู้ PABX นั้น  เปลี่ยนเป็นการเชื่อมต่อจากคู่สายภายในแทน  โดยลักษณะการใช้งานนั้น  ก็คล้ายๆ กัน  แต่จะยุ่งยากน้อยกว่า  โดยหากคุณต้องการโทรออกผ่าน VOIP นั้น  คุณก็เพียงโทรไปยัง Extension number ที่เชื่อมต่อกับ Voice Box นั้นๆ  สมมุติเป็น 108 จากนั้นคุณก็จะได้สัญญาณในการโทรออก  ทั้งนี้หากคุณต้องการโทรจากสาขาที่ 1 ไปสาขาที่ 2 ก็อาจทำได้โดยกด 108  หลังจากได้สัญญาณในการโทรออกแล้ว  คุณจะโทรไปข้างนอกก็ได้  หรือจะโทรไปยังเบอร์ Voice Provider ปลายทางของสาขาที่ 2 ก็ได้  ซึ่งหากคุณโทรไปยังเบอร์ Voice Provider ปลายทางของสาขาที่ 2 คุณก็จะได้สัญญาณในการโทรไปยัง Extension number ใดก็ได้ภายใน สาขาที่ 2  ระบบอาจดูยุ่งยาก  แต่ก็หลีกหนีข้อจำกัดในกรณีที่สายนอกเต็ม  ทีนี้เรามาดูวิธีการลดความยุ่งยากแบบที่มีระบบจัดการของตัวเองกัน  โดยมี IP PBX หรือ Sip Server ภายในองค์กรเป็นของตัวเอง  ตามภาพที่ 8

 

 
ภาพที่ 8 การติดตั้ง IP PBX / Sip Server ภายในระบบเครือข่าย

 

จากภาพจะเห็นได้ว่า  เมื่อมี Sip Server เป็นของตัวเองแล้ว  การที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างกันสามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด  ยกตัวอย่างเช่น  หากสาขาที่ 2 จะเรียกมายังสาขาที่ 1 ก็สามารถกดเบอร์ภายใน  โทรติดต่อหากันได้เลย  เช่น ตัด 8 ให้โทรเข้ามายัง FXO ของสาขาที่ 1 และติดต่อเบอร์ภายในของสาขาที่ 1 ได้  User จากภายนอก สามารถใช้ Soft Phone เชื่อมต่อมายัง Sip Server ภายใน  และติดต่อกับ Extension ทั้งสาขาที่ 1 และสาขาที่ 2 ได้  อีกทั้ง  Promotion ต่างๆ ของผู้ให้บริการ Voice Provider แต่ละราย  ยังสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการอีกด้วย  ข้อจำกัดของการอาศัย Sip Server ของผู้ให้บริการภายนอกคือ  เวลาระบบ Voice Provider เขามีปัญหา  เราทำอะไรไม่ได้เลย  หากเรามี Sip Server เป็นของตัวเองเราสามารถกำหนดเสถียรภาพของเราเองได้  สามารถหาจุดบกพร่องต่างๆ เองได้  บันทึกเสียงการสนทนาได้  ทำระบบ Voice To E-mail ก็ได้  จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น  มีอยู่หลายต่อหลายครั้งที่ปัญหาจะเกิดจาก Sip Server ภายนอก  ซึ่งหากต้องการติดต่อสื่อสารในทางธุรกิจ  และต้องการทำให้การใช้งานง่ายสำหรับ User แล้ว  การมี Sip Server หรือ IP PBX ของตัวเองก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

 

รูปแบบที่ผู้เขียนกล่าวถึงคร่าวๆ ทั้ง 3 รูปแบบนั้น  สามารถพลิกแพลงรูปแบบต่างๆ ได้อีกมากมายตามความต้องการของแต่ละองค์กร  แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนติดตั้งระบบ VOIP ก็คือ  ระบบเครือข่ายของคุณเสถียรภาพดีแล้วหรือยัง  มีการจัดการ Bandwidth ภายในองค์กรที่ดีพอหรือยัง  หากองค์ประกอบ 2 อย่างนี้พร้อม  ก็เริ่มทำ VOIP ภายในระบบของคุณเถอะครับ  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  หากกังวลเรื่องเสถียรภาพมากนัก  ก็อาจใช้เป็นการเชื่อมต่อตามภาพที่ 6 ก็ได้  ซึ่งหากมีปัญหา  ก็ปิดอุปกรณ์แล้วเปิดใหม่  แต่หากต้องการใช้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการแล้ว  การมี Sip Server หรือ PABX ของตัวเองก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน ..... สวัสดีปีใหม่ ปี 54  ขอเมืองไทยมีความสงบสุข นานแสนนาน

 

อธิฐาน        ก่อนเขียน        จิตแน่วแน่
ที่ต้องแก้        คืออัตตา        ยังส่งผล
จิตยึดติด        ความรู้        เป็นของตน
สละตน        วางจิต        ละอัตตา
มือผู้ให้        ย่อมสูง        กว่าผู้รับ
ความรู้ดับ        สูญหาย        ไม่เป็นผล
เมื่อวิญญาณ        ไร้ร่าง        หมดตัวตน
หากยังคง        ยึดติด        อดนิพพาน

 

 

จากคุณ : NickService.Com [13 ธันวาคม 2553 - 17:16:58]  

HOME  |  SOLUTION  |  PRODUCT  |  SPEED TEST  |  Check IP WAN  |  CONTACT US

© 2007 NJ Network Co.,Ltd.  TEL. 02-2497910