หนึ่งในคำถามที่มักจะเป็นคำถามแรกๆ ของคนที่ต้องการจะซื้อ Hard Disk สำหรับใช้ทำงาน มักจะหนีไม่พ้นคำถามว่า Hard Disk Desktop แตกต่างอย่างไรจาก Hard Disk Enterprise เพราะราคาก็ต่างกันราว 3-4 เท่าตัวได้ ผมขอตอบข้อสงสัยข้อนี้ให้กับผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้
1. ความต่อเนื่องในการใช้งาน
Hard Disk แบบ Desktop ทั่วๆ ไปนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานแบบ 24×7 หรือก็คือเปิดใช้งานทั้งวัน ตลอดทั้งสัปดาห์ ในขณะที่ Hard Disk แบบ Hi-End Desktop และ Enterprise นี้จะถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานแบบ 24×7 ทำให้โอกาสที่ Hard Disk จะพังจากการเปิดใช้งานนานๆ มีน้อยลงนั่นเอง
ดังนั้นในระบบงานที่มีความสำคัญมากๆ เช่น ระบบ Storage กลาง, ระบบ Virtuaization, ระบบ CCTV ณ จุดที่สำคัญ กรใช้ Hard Disk Desktop นั้นจึงอาจจะทำให้ระบบมี Downtime เกิดขึ้น อาการที่พบบ่อยคือ Disk ค้าง ทำให้ Server ไม่สามารถเขียนหรืออ่านข้อมูลจาก Disk ได้ หรือทำได้ช้ามากหลังจากใช้งานต่อเนื่องมานานเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต้อง Restart ทั้งเครื่องเพื่อให้ Disk กลับมาทำงานเช่นเดิม หรือในบางระบบอาจจะเกิดอาการ Disk หลุด คือเมื่อใช้งานไปซักพักแล้ว Server ก็มองไม่เห็น Disk เลย และต้องรอซักพักให้ Disk กลับมา ซึ่งถ้ามีการเขียนอ่านข้อมูลเกิดขึ้นในช่วงที่ Disk หลุดออกไปนั้น ก็อาจทำให้ Server ของเรา Hang ไปเลยก็เป็นได้
ในขณะที่การใช้ Hard Disk แบบ Enterprise แต่แรกเลย ก็จะช่วยลดโอกาสการเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะ Hardware ที่เลือกมาเป็นส่วนประกอบของ Hard Disk Drive นั้นมีคุณภาพสูง และถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทนทานกว่ามาก
2. อายุการใช้งาน
Hard Disk แบบ Desktop นี้จะไม่มีการรับประกันว่าจะพังเมื่อไหร่ เพียงแต่จะมีประกันให้ว่าถ้า Disk เกิดพังขึ้นมาภายใน 1 ถึง 3 ปีหลังซื้อ จะมีประกันซ่อมแซมหรือทดแทนให้ ในขณะที่ Hard Disk แบบ Enterprise จะมีการทดสอบล่วงหน้าและประเมินว่า Hard Disk แต่ละลูกจะสามารถใช้งานได้นานเท่าไหร่ก่อนที่จะมีโอกาสพัง โดยแสดงเป็นค่าของ Mean Time Between Failure (MTBF) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีค่าระหว่าง 1.2 ล้านชั่วโมง ถึง 2 ล้านชั่วโมงนั่นเอง หรือแปลงเป็นหน่วยวันแล้วก็คือประมาณ 137 ปี ถึง 228 ปีนั่นเอง
แต่ค่า MTBF นี้ก็เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า Hard Disk แต่ละลูกจะสามารถทำงานได้เป็นร้อยๆ ปี แต่หมายถึงว่าถ้านำ Hard Disk มาใช้งานพร้อมๆ กันเป็นร้อยๆ ลูก อาจจะมีเพียง 1 ลูกเท่านั้นที่เสียต่อปี ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการใช้งาน เช่น มีการถ่ายเทความร้อนที่ดี, มีระดับความชื้นที่เหมาะสม และไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า ดังนั้นในความเป็นจริงโอกาสที่ Hard Disk จะเสียก่อนถึงเวลาก็ยังมีอยู่ แต่ก็น้อยกว่า Hard Disk แบบ Desktop ทั่วไปอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้งานแบบ 24×7 ตลอดเวลาพร้อมกันหลายๆ ลูกสำหรับเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญสูงๆ นั่นเอง
3. รูปแบบการใช้งาน
Hard Disk แบบ Desktop นี้มักจะถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานเดี่ยวๆ หรือติดตั้งเพียงไม่กี่ชุดต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ในขณะที่การใช้งานแบบ Enterprise มักจะนำ Hard Disk จำนวนหลายๆ ชุดมาใช้งานพร้อมๆ กันในลักษณะการทำ RAID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความทนทานของการจัดเก็บข้อมูล ดังนั้นใน Hard Disk แบบ Enterprise จึงมีการเพิ่มเติมเทคโนโลยีเพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพการใช้งาน เช่น การปรับปรุงหัวอ่านให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและทนทานต่อการสั่นสะเทือนที่เกิดจาก Hard Disk ลูกอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เป็นต้น
4. แล้วจะเลือกใช้งานยังไงดี?
ขอแบ่งประเภทการใช้งาน กับ Hard Disk ที่เหมาะสมเพื่อความเข้าใจง่ายพร้อมตัวอย่างการนำไปใช้งานดังนี้
Desktop Hard Disk / Hard Drive
ใช้งานในบ้าน และ Notebook
ใช้กับระบบที่ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา
ใช้เป็น External Hard Disk สำหรับสำรองข้อมูล ที่สามารถสูญหายได้บ้าง
ใช้สำหรับเล่นเกม
Enterprise Hard Disk / Hard Drive
ใช้สำหรับแชร์ไฟล์ภายในระบบ (File Server)
ใช้สำหรับทำ RAID
ใช้สำหรับทำ SAN Storage, NAS Storage
ใช้สำหรับทำ Database เช่น MySQL, MS SQL, Oracle DB
ใช้สำหรับ Application ที่ต้องการความทนทานสูง
ใช้สำหรับงานประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing)
ใช้สำหรับงานตัดต่อวิดีโอขนาดใหญ่ (High Performance Video Editing)
ใช้สำหรับงานประมวลผลทางด้านภาพ (Image Processing)