สร้างระบบโทรศัพท์ของตัวเอง โดยไม่เสียค่าโทร
สถานการณ์การสื่อสารในบ้านเรา กำลังเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนตามวิถีชีวิตผู้คน ปัจจุบัน 3G เริ่มมีใช้ในบ้านเราแล้ว โดยมีผู้ให้บริการหลัก 3 ราย คือ TOT, True และ CAT ซึ่งหากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ นั้น TOT และ True สามารถใช้งานได้เกือบทุกพื้นที่เลยทีเดียว ผู้เขียนสนใจในเครือข่ายประเภทนี้มาก เวลาต้องออกไปพบลูกค้าก็ชอบที่จะวางโทรศัพท์ไว้หน้ารถเสมอ และจะเปิดหน้าจอค้างไว้ เพื่อสังเกตสัญญาณตลอดเวลา จึงรู้ได้ว่า สัญญาณ 3G หรือ 3.5G นั้น เหมาะสำหรับรับส่งข้อมูลประเภท Data แต่ความเสถียรของคลื่นนั้น ยังอาจสู้ระบบเครือข่ายโทรศัพท์แบบเดิมไม่ได้ ซึ่งในช่วงท้ายบทความนั้น จะแนะนำถึงวิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ 3G กันให้ฟังอีกด้วย
และด้วยเหตุที่คนกรุงเทพฯ มี 3G ใช้กันได้แล้วอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เราสามารถพกพาสัญญาณอินเตอร์เน็ตติดตัวไปได้เกือบทุกที่ จึงเอื้อประโยชน์กับระบบ VOIP เป็นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราคาค่าบริการมือถือลงมาก แต่ในปัจจุบัน เมื่อ บริษัทฮัทฯ หนึ่งในผู้นำในการให้บริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน (บุฟเฟ่ต์โทรไม่อั้นในช่วงเวลาที่กำหนด) ถูกซื้อกิจการไป ดูเหมือนว่า คนไทยจะต้องยอมรับชะตากรรมในการจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ที่แพงขึ้น โดยสังเกตจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายจะพบว่า แทบจะไม่มีผู้ให้บริการรายใดให้บริการเหมาจ่ายแบบ บุฟเฟ่ต์อีกแล้ว อีกทั้ง VOIP ของ TOTNetCall ที่เมื่อก่อนโทรตลอด 24 ชั่วโมง อัตราค่าบริการ 25 สตางค์ต่อนาทีนั้น ก็ปรับอัตราค่าบริการขึ้นมาเป็น 75 สตางค์ต่อนาทีเลยทีเดียว ชะตากรรมที่พลิกผันเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาระบบ VOIP อย่างมากในบ้านเรา
ในเมื่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปได้เกือบทั่วประเทศแบบนี้แล้ว เวลาติดต่อกันภายในบริษัทฯ ของตัวเองทำไมต้องเสียค่าบริการด้วยล่ะครับ ..... ซึ่งเมื่อพูดถึงระบบ VOIP แล้ว ในอดีตหลายคนคงเหนื่อยหน่ายกับระบบที่วุ่นวายนี้อยู่มาก เพราะมีองค์ประกอบและผลกระทบ (Effect) รอบด้านหลายทิศทาง ผู้เขียนเองในตอนแรกที่เริ่มทำระบบ VOIP นั้น ก็เคยคิดท้อบ้างเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันขอยืนยันว่า ระบบ VOIP สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ซึ่งเรามาดู Diagram การติดต่อสื่อสารกันก่อนตามภาพที่ 1 กันก่อน ซึ่งจะเป็นการ Upgrade ระบบ PABX แบบเดิม ให้สามารถใช้งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้
ภาพที่ 1
จากภาพนั้นจะเห็นได้ว่า โทรศัพท์ iPhone (หรือ Smart Phone อื่นๆ) เมื่อสามารถออกอินเตอร์เน็ตได้ (รวมถึงอินเตอร์เน็ตแบบ GPRS) ก็จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ ผ่านโปรแกรมประเภท Sip Phone ที่ติดตั้งได้บน Smart Phone อาทิ 3CX, Fring ฯลฯ เชื่อมต่อมายัง IPPBX (Sip Server) จากนั้นที่ตัว IPPBX ก็จะมี Interface ในการเชื่อมต่อ ซึ่งมีทั้งแบบ FXS และ FXO เชื่อมต่อเข้ากับตู้ PABX แบบเดิม ซึ่งองค์ประกอบของตู้ PABX นั้น โดยทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ในส่วนของสายนอก และสายใน
แน่นอนว่า การเชื่อมต่อผ่านสายนอกจาก PABX มายัง IPPBX นั้น ก็จะเชื่อมต่อผ่านพอร์ต FXS และ หากต้องการเชื่อมต่อ IPPBX เข้ากับสายในของ PABX ก็จะเชื่อมต่อผ่านพอร์ต FXO ซึ่งข้อแตกต่างก็จะอยู่ตรงที่หากต้องการติดต่อผ่าน IVR (ระบบตอบรับกลางของบริษัทฯ) ก็เชื่อมต่อผ่านพอร์ต FXS แต่หากไม่ต้องการติดต่อผ่าน IVR กลางของบริษัทฯ ก็สามารถเชื่อมต่อผ่าน FXO ไปได้เลย ซึ่งก็เหมาะสำหรับการติดต่อสื่อสารภายในที่ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก คือเมื่อโทรเข้ามาแล้วที่เบอร์ของพอร์ต FXO แล้ว ก็กดเบอร์ภายในได้เลย .... ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยกล่าวถึงวิธีแก้ไขปัญหา Busy Tone ของตู้ PABX กับพอร์ต FXO ไปแล้ว (ปัญหาสายไม่ตัด เวลาวางสาย) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://corecasys.com/tech/read.asp?no=432 หรือในนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ ฉบับเดือน เม.ย. 54
ที่จริงแล้ว ปัญหาของ FXS นั้นก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาเล็กน้อยที่ผู้คนมักมองข้ามไป คือเมื่อใช้ Port FXS ในการโทรออก ก็จะโทรได้ตามปกติ เวลาวางสายก็วางได้ตามปกติ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ 2 เรื่องคือ เสียงเบา พูดไปแล้วไม่ค่อยได้ยิน และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ เวลาโทรออกไปแล้วเจอระบบ IVR ของบริษัทฯ อื่น จะต่อเบอร์ Extension ก็จะไม่สามารถต่อไปได้ ซึ่งก็จะเกิดจากความถี่ของคลื่นเสียงไม่ตรงตามมาตรฐานของตู้ PABX ในเมืองไทยนั่นเอง (IPPBX ของ DrayTek สามารถแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ครับ)
ทีนี้มาต่อกันที่ Diagram ตามภาพที่ 1 กันต่อ หลังจาก Smart Phone หรือ Voice Box ที่ติดตั้งยังสาขาต่างๆ สามารถเชื่อมต่อมายัง IPPBX แล้ว และ IPPBX ก็สามารถสร้างจะเชื่อมกับ PABX ได้เป็นผลสำเร็จ ผลก็คือ คุณสามารถที่จะเลือกติดต่อไปยัง Extension ภายในบริษัทของตัวเอง เบอร์ใดก็ได้ หรือจะโทรออกไปข้างนอกผ่าน Sip Trunk ที่ Register ไว้กับ Sip Provider เช่น TOT Net Call, Ji-Net Mouthmun เป็นต้น ก็ได้ ซึ่งหากเป็นการติดต่อสื่อสารไปยัง Extension ภายในบริษัทฯ นั้น แน่นอนว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดแน่นอน แต่หากต้องการโทรออกผ่าน Sip Trunk ภายนอก ก็จะเสียค่าบริการขึ้นอยู่กับ Promotion แต่ละค่ายนั้นๆ ไป
นัยยะสำคัญจะอยู่ตรงที่จะเชื่อมระหว่าง IPPBX กับ PABX ซึ่งจะต้องทำงานกันอย่างผสมผสานและกลมกลืน ใน Port FXS และ FXO นั้นจะประกอบไปด้วยเบอร์โทร 2-3 เบอร์ ด้วยกัน คือ Extension Number ของ IPPBX, Extension Number ของ PABX และเบอร์โทรศัพท์ของ Sip Trunk ที่สามารถ Forward ไปยังพอร์ต FXS และ FXO ทั้ง 3 เบอร์ที่ว่านี้ จะเป็นจุดเชื่อมที่แยบยลในการ Integrate จาก PABX ระบบเดิมไปสู่ IPPBX
ภาพที่ 2
ภาพที่ 2 นี้จะเป็นเส้นทางการโทรจาก Extension ภายใน PABX ไปยัง Extension Number ของ IPPBX ที่ติดตั้งอยู่ตามสาขาต่างๆ
ภาพที่ 3
ภาพที่ 3 นี้จะเป็นการเชื่อมต่อจากโทรศัพท์ภายนอก มายังระบบ IPPBX โดยตรง ผ่าน Sip Trunk ของ IPPBX ที่ Register ไว้กับ Cat2Call Plus (Sip Trunk ประเภทนี้จะมีเบอร์โทร 02-xxxxxxx ตามมาด้วย) ซึ่งหลังจากโทรศัพท์ภายนอกโทรเข้ามายัง Sip Trunk ดังกล่าว ก็จะสามารถเชื่อมต่อมายัง Extension Number ต่างๆ ภายใน PABX ได้อีกด้วย .... วิธีนี้ถือเป็นการขยายช่องทางให้โทรศัพท์ภายนอก สามารถโทรเข้ามายัง Extension PABX ระบบเดิม หรือ Extension IPPBX ได้อีกด้วย เสมือนหนึ่งทำให้ PABX และ IPPBX ทำงานควบคู่กันไปอย่างผสมกลมกลืนเลยทีเดียว
ภาพที่ 4
ภาพที่ 4 จะเป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่าง Extension Number ของ PABX กับ Extension Number ของ IPPBX โดยผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Port FXS และ FXO การติดต่อสื่อสารในลักษณะนี้ ใช้แก้ไขปัญหาตู้ PABX ที่มี Extension Number ภายในไม่เพียงพอต่อความต้องการได้อีกด้วย (ปัญหาคู่สายภายในเต็ม)
ภาพที่ 5
ภาพที่ 5 นี้จะเป็นการเชื่อมโยงตู้ PABX 2 ฝั่งเข้าหากัน โดยสามารถติดต่อถึงกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในอดีตนั้น เวลาที่เราจะเชื่อมตู้ PABX 2 ฝั่งเข้าหากันนั้น โดยมากจะขอสายสัญญาณประเภท E1 ซึ่งเป็นสายสัญญาณที่มีโทรศัพท์พ่วงอยู่ภายในเป็นร้อยเบอร์เลยทีเดียว และสายสัญญาณประเภท E1 นั้นก็ราคาสูงมากด้วย ซึ่งหากเชื่อมต่อตาม Diagram ภาพที่ 5 Sip Server ก็คือ IPPBX เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอา IPPBX ไปตั้งฝั่งใดก็ได้ (สาขา หรือสำนักงานใหญ่) ในหัวข้อนี้ผู้เขียนได้เคยกล่าไว้แล้วในนิตยสารไมโครคอมพิวเตอร์ฉบับเดือนพฤษภาคม หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้ https://corecasys.com/tech/read.asp?no=441
VOIP นั้นก็เหมือนกับ VPN มันเป็นทั้งศาสตร์ และศิลปะในการติดตั้ง ไม่มีระบบรูปแบบใดที่เหมาะสมกับบริษัทฯ ใดได้อย่างเหมาะเจาะ ลักษณะการออกแบบและติดตั้งนั้น จะเสมือนเป็นการตัดชุดให้ตรงกับตามความต้องการของลูกค้า เพราะความต้องการ หรือปัญหาของแต่ละบริษัทฯ ก็แตกต่างกันไป และหลักการหรือทฤษฎี มันก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็ต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์ ดังนั้นผู้ให้บริการติดตั้งระบบ VOIP ที่ดี ก็ควรจะมีระบบที่พร้อมให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน เพราะระบบ VOIP นั้น เสถียรภาพของระบบ ความคมชัดของเสียง เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ที่ลูกค้าควรสัมผัสและมั่นใจได้ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ
ช่วยกันกำจัด Spam ด้วย Cloud Computing
ปัจจุบัน เครือข่ายสังคมออนไลน์ เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันไปเรื่อยๆ อย่างไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google ฯลฯ ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้ จะลิงค์ไปยังส่วนต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด ปัจจุบัน ผู้เขียนใช้ฐานข้อมูล Spam ฟรีจาก zen.spamhaus.org bl.spamcop.net และ spam.dnsbl.sorbs.net ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้สามารถ Access ได้ฟรี และกรอง Spam ได้เกือบ 100% เลยทีเดียว
จากสถิติที่ผู้เขียนประมาณการนั้น Spam ที่เข้ามาในอีเมล์ของผู้เขียนนั้น เรียกได้ว่าเยอะมากเลยทีเดียว ถือเป็นอัตราส่วนประมาณ 95% ของอีเมล์ทั้งหมด แต่ไม่มีผลกระทบอะไรกับผู้เขียนมากนัก เนื่องจากตัวกรอง Spam ดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฐานข้อมูลทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากฟรีอีเมล์ประเภทต่างๆ เช่น hotmail yahoo googlemail ฯลฯ ซึ่งเรามีวิธีช่วยกัน Update ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายๆ เพียง 2 ขั้นตอนเท่านั้นคือ คลิ๊กเลือกเมล์ที่เป็นเมล์แล้ว แล้วกดปุ่ม "เมล์ขยะ" หรือ "Junk" ตามภาพที่ 6 และ ภาพที่ 7
ภาพที่ 6
ภาพที่ 7
วิธีการใช้งานโทรศัพท์ 3G เป็นภาครับ
ปัจจุบันเครือข่าย 3G ในกรุงเทพฯนั้น เป็นการจับมือกันระหว่างพันธมิตร ผู้ได้รับสัมปทาน 3G และผู้ให้บริการโทรศัพท์รายเดิม โดย TOT3G นั้นจับมือกับค่าย AIS และ True จับมือกับค่าย Hutch .... อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วว่า สัญญาณ 3G นั้นแข็งแกร่งในการรับส่งข้อมูลพอสมควร แต่อาจบางบางในลักษณะของการใช้งานโทรศัพท์การเคลื่อนที่ ซึ่งเทคโนโลยีมือถือในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้องถือว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอควร จึงมีเสถียรภาพดีกว่า ..... วิธีการที่จะแก้ไขปัญหา โทรศัพท์ 3G ในกรณีใช้เป็นภาครับโทรศัพท์อย่างเดียวนั้น ผู้เขียนเลือกที่จะปิดฟังก์ชั่นการทำงาน 3G ที่โทรศัพท์ และเปิด Roaming แทน ซึ่งหลังจากทำแบบนี้แล้ว จะเสมือนหนึ่งการบังคับให้โทรศัพท์นั้น ใช้ภาครับของมือถือระบบเดิมอย่างเดียว ซึ่ง TOT3G นั้นจับมือกับ AIS ดังนั้นเมื่อทำเช่นนี้แล้ว ภาครับก็จะเป็น AIS ไปโดยปริยาย และโทรศัพท์ 3G ของคุณก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการโทรติดบ้างไม่ติดบ้างอีกต่อไป ตามตัวอย่างภาพที่ 8
ภาพที่ 8
ธรรมะนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก มีอยู่บางช่วงเวลาที่ผู้เขียนเคยรู้สึกที่ไม่อยากจะดิ้นรนอะไรให้มากไปกว่านี้เหมือนกัน เพราะชีวิตคนเราก็เท่านี้ จะต้องทำอะไรไปมากมายทำไมกัน แต่เมื่อผู้เขียนได้เห็นพระองค์หนึ่ง ในกรุงเทพฯ นี่แหละ เห็นท่านเร่งความเพียร โดยการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ไปทีไรก็มักเห็นท่านนั่งสมาธิอยู่เนืองๆ จึงคิดขึ้นมาได้ว่า แม้พระพุทธเจ้า ท่านจะทรงตรัสรู้แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยละความเพียรในการทำสิ่งต่างๆ เลย ท่านทรงเจอกับสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ทุกผู้คนเจอ (จากบทแปลพาหุง) ซึ่งไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม เราก็ควรตั้งมั่นอยู่ในความเพียรและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด การมีธรรมมะนั้น คงไม่ใช่การปลงแล้วไม่อยากทำอะไรเลย แต่เป็นการปลงเพื่อละวางอัตตา และสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เพื่อให้เข้าใจ มีกำลังใจ และดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างสงบ ทั้งนี้ความเพียรยังคงต้องรักษาไว้ เพราะเป็นรากฐานที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ในวันข้างหน้า ดังพุทธภาษิตที่ว่า "วิริเยน ทุก.ขมจ.เจติ" (บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร) ....... สวัสดี และขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน